คุณแม่มือใหม่

เทคนิคการปั๊มนมแม่ “สไตล์แม่นก”

เทคนิคปั๊มนมจากคุณแม่นก ผู้เปี่ยมล้นด้วยความพยายาม เพื่อสร้างภูมิต้านทานสู่ลูกน้อย

บ่อยครั้งที่มักจะถูกถามว่า : ทำอย่างไรให้มีน้ำนมเยอะแบบนี้ ? ทำอย่างไรจึงจะให้นมลูกได้นานๆ ?

เคล็ดไม่ลับ จากคุณแม่นักปั๊ม ผู้มุ่งมั่นและตั้งใจกับการให้นมลูก จากเส้นทางที่ไม่มีน้ำนมสู่น้ำนมสต็อก 6,000 กว่าถุง…และความมหัศจรรย์ของความรักที่ทำให้พี่ 5 ขวบ ยังสามารถดื่มน้ำนมแม่ได้… #เส้นทางของความรักมักมีทางออกเสมอ….

“เทคนิคปั๊มนมจากคุณแม่นก ผู้เปี่ยมล้นด้วยความพยายาม เพื่อสร้างภูมิต้านทานสู่ลูกน้อย”

เริ่มต้นด้วยการจัดและวางแผนรอบการปั๊มนมให้มากที่สุด ระยะแรก แม่นกจะปั๊มนมโดยที่ไม่คำนึงถึงปริมาณน้ำนมที่จะออกมา นั่นเพราะว่า หากเห็นว่าน้อยก็มีส่วนทำให้คุณแม่หมดกำลังใจ แม้ได้เพียง 1 ออนซ์ แม่นกก็จะเก็บน้ำนมส่วนนั้นเป็นสต็อก เพราะนี่คือ กำไร เราได้กำไรหลังจากที่ลูกเข้าเต้าแล้ว

แม่นกมีคุณยายเป็นผู้ช่วยคนเก่งในการเลี้ยงน้องค่ะ แม่นกจึงสามารถทำงานที่บ้านได้ และก็มีหลักการจัดการง่ายๆ เมื่อยามลูกอยู่กับแม่ นั่นคือ เอาน้องเข้าเต้าค่ะ แต่ถ้าหากน้องต้องอยู่กับคุณยายหรือแม่นกติดภารกิจ แม่นกก็จะกำหนดการให้นมสต็อกกับน้อง เช่น แม่ห่างลูก 1 ชั่วโมง ก็เตรียมนมไว้ให้ 1 ออนซ์ ดังนั้น น้ำนมที่ปั๊มได้ก็จะถูกจัดการอย่างพอดี มีระบบ แถมมีพอให้ลูกทานด้วย (หลักการ คือ นม1ออนซ์ ต่อ ระยะเวลา 1 ชั่วโมง)

ในด้านการจัดสต็อก ก็เน้นตามหลักการทั่วไป คือ เขียนวัน เวลา ลำดับที่ไว้ที่ถุงเก็บน้ำนมทุกถุง เพื่อให้หยิบใช้ง่าย ถุงเก็บก่อนก็นำออกมาใช้ก่อน

ในส่วนของการเก็บบรรจุน้ำนมลงถุง แม่นกจะดูปริมาณในการทานนมของน้องในแต่ละวัน เช่น น้องทานวันละ 10 ออนซ์ ก็จะเก็บนมสต็อกปริมาณถุงละ 5 ออนซ์ ที่สำคัญ ไม่แนะนำให้เก็บน้ำนมในถุงปริมาณเยอะเกินไป เพราะถุงเก็บน้ำนมจะพองมาก และเมื่อเจอความเย็น สามารถทำให้ถุงเก็บน้ำนมรั่ว แตก หรือซึมได้ ถ้าเป็นแบบนั้นเสียดายน้ำนมแย่เลยค่ะ (แต่ขอบอกว่า ของแม่นกที่ใช้ถุงน้ำนมมาไม่เคยเจอแตกเลยค่ะ)

ในช่วงปีแรกของการให้นม แนะนำให้คุณแม่พยายามปั๊มนมรอบตี 3 นะคะ เพราะอย่างน้อยๆร่างกายเราได้พักผ่อนมาระยะหนึ่งแล้ว และจากการปั๊มนมมาพบว่า การปั๊มรอบนี้ จะช่วยเรื่องการรักษาปริมาณน้ำนมได้ดี หากเป็นไปได้ช่วงกลางคืน แนะนำให้ปั๊มนม 2-3 รอบ เหนื่อยหน่อยแต่ก็คุ้มนะคะ

“ถ้าน้องเข้าเต้าด้านขวา เราก็ปั๊มด้านซ้ายเก็บ ช่วยรักษาปริมาณน้ำนม แถมได้สต็อกเก็บเพิ่มด้วยค่ะ” สำหรับแม่นกแล้ว แม่นกชอบเอาลูกเข้าเต้าในท่านอนช่วงกลางคืน นั่นเพราะคุณแม่จะได้หลับพักผ่อนด้วย ไม่ต้องกังวลว่า ลูกน้อยจะไม่ได้นอนเตียงสวยๆนะ เน้นความอบอุ่น อยู่ใกล้กันดีกว่าค่ะ แต่อย่าลืมนะคะ เมื่อน้องเข้าเต้าท่านอนเสร็จแล้ว เราได้นอนแล้วก็ลุกมาปั๊มอีกหน่อย ฝึกแบบนี้ไปเรื่อยๆ น้ำนมไหลมาเทมาแน่นอนค่ะ

สิ่งสำคัญที่แม่นกอยากฝากบอกคุณแม่นักปั๊มทุกท่านนะคะ นอกจากเคล็ดลับในการให้นมลูกที่ดีแล้ว เราต้องไม่ลืมการจัดเก็บน้ำนมที่ถูกวิธีด้วย ตัวอย่างเช่น ถุงเก็บน้ำนมขนาด 8 ออนซ์ ก็ใส่ประมาณ 5-6 ออนซ์ก็พอค่ะ และเมื่อนำมาใช้ก็พอดีกับปริมาณการทานของลูกด้วย

สิ่งสำคัญอีกประการซึ่งมองข้ามไปไม่ได้ นั่นคือ เมื่อเราเทน้ำนมลงถุงเก็บแล้ว ต้องไม่ลืมไล่อากาศออกจากถุงด้วย โดยคุณแม่จะใช้วิธีวางปากถุงแบนราบกับโต๊ะแล้วรีดไล่อากาศออก หรือใช้มือค่อยๆไล่อากาศและปิดซิปล็อคถุงให้เรียบร้อยจึงค่อยนำเข้าตู้เย็นก็ได้ค่ะ เพราะว่าหากมีอากาศเข้าไปในถุงเก็บน้ำนมมาก จะทำให้ถุงเก็บน้ำนมโป่งพอง แถมอาจทำให้น้ำนมมีกลิ่นหืน พาลให้สมาชิกในดวงใจไม่ยอมทานอีกจะยิ่งแย่กันใหญ่

สำหรับแม่นกเอง ความสม่ำเสมอและการจัดรอบปั๊มที่ดี ทำให้น้องเนเน่ ลูกคนโตอายุ 5 ขวบ ยังได้ทานนมแม่อย่างไม่ขาด ส่วนน้องโนโน่ลูกคนเล็กก็เป็นเด็กนมแม่ 100 % แม่นกมีกำลังใจปั๊มนมแบบที่เรียกว่า ไม่ปล่อยให้น้ำนมขาดตู้เลยค่ะ แม้ว่า แม่นกจะปั๊มนมแบบทุ่มเท มีเหนื่อย มีท้อ แต่เมื่อเห็นลูกๆมีร่างกายที่แข็งแรง มีพัฒนาการที่ดี สมวัย ที่สำคัญ ความสุขในการให้นมนั้น ถ้าไม่ใช่แม่ก็ไม่มีใครทำให้ลูกเราได้จริงๆค่ะ

ขอให้คุณแม่ผู้ให้นมทุกท่าน อดทน พยายามเพื่อความแข็งแรงของเจ้าตัวเล็กของเรานะคะ เพราะในที่สุด การที่ลูกเรามีความสุข ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจแข็งแรง นั่นคือ คำตอบของทุกความพยายามที่ทำให้ลูกจริงๆค่ะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น